วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คาร์บอนเครดิต(Carbon Credit)


คาร์บอนเครดิต(Carbon Credit) คืออะไร
สืบเนื่องจากพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocal) กำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดประมาณการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก หรือกรีนเฮ้าส์เอฟเฟคท์ ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ฯลฯ
พิธีสารเกียวโตมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่16 กุมภาพันธ์ 2549 หากประเทศที่ลงนาม เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา ญี่ปุ่น ไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกประมาณ 5.2% ในปี 2551-2555 จะมีค่าปรับถึงตันละ 2,000-5,000 บาท
สถิติจากWorld Resources 2005 ระบุว่า
สหรัฐปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดปีละ 5.7 พันล้านตัน
 อันดับ 2 คือจีน 3.4 พันล้านตัน
 อันดับ 3 คือ รัสเซีย 1.5 พันล้านตัน
ญี่ปุ่น 1.2 พันล้านตัน อังกฤษ 558 ล้านตัน
ส่วนไทย 172 ล้านตัน
ดังนั้น"การซื้อขายคาร์บอนเครดิต" จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่กำหนดออกมาพิเศษ เพื่อช่วยให้ประเทศตัวการปล่อยก๊าซพิษไม่ต้องถูกลงโทษ
"คาร์บอนเครดิต" หมายถึง สิ่งทดแทนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาผลาญน้ำมันดิบในโรงงานอุตสาหกรรมหรือยานยนต์ หากประเทศพัฒนาแล้วไม่สามารถลดมลพิษของตนได้อีกต่อไป ก็ต้องใช้วิธีช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อลดได้จะกลายเป็นคาร์บอนเครดิตของตนเอง ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าปรับ  เช่น 
การปลูกป่าไม้ 2.5 ไร่ จะสามารถเก็บคาร์บอนเครดิตได้ 2 ตัน
การใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนน้ำมัน 1 หน่วยจะได้เครดิตประมาณ 0.6 กิโลกรัม
ตัวอย่างเช่นประเทศ A อยู่ในยุโรป ถูกกำหนดให้ลดก๊าซเรือนกระจก 50 ล้านตัน แต่โรงงานอุตสาหกรรมหรือโครงการที่มีในประเทศ A พยายามลดสุดๆแล้ว ลดได้เพียง 30 ล้านตัน จึงต้องไปซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศกำลังพัฒนามาอีก 20 ล้านตัน ไม่เช่นนั้นจะโดนปรับ ตันละ 3,000 บาทก็ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท
ประเทศ  ก จึงติดต่อไปที่ ฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศ ข เพื่อช่วยสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ เมื่อสร้างเสร็จทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าฟาร์มหมูลดลงเดือนละ 2 ล้านบาท ถือเป็นการลดจำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม สมมติว่าลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 1 ล้านตัน จำนวนที่ลดได้ จะถูกเรียกว่า "คาร์บอนเครดิต" ซึ่งประเทศ A จะได้คาร์บอนเครดิต 1 ล้านตันไปรวมกับ 30 ล้านตันที่มีอยู่ หรือในอนาคตฟาร์มหมูที่อยู่ใกล้เคียงอาจใช้เทคโนโลยีเดียวกัน มาลงทุนสร้างโรงงานไฟฟ้าก๊าซชีวภาพเอง แล้วขายคาร์บอนเครดิตให้ประเทศ A ก็ได้
ทั้งนี้หน่วยงานหรือบริษัทที่จะซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตได้ ต้องผ่านมาตรฐานตาม "โครงการซีดีเอ็ม" หรือโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด(Clean Development Mechanism หรือ CDM Project-Carbon Credit)
"คาร์บอนเครดิต" กำลังกลายเป็นธุรกิจซื้อขายมลพิษ ที่มีแนวโน้มทำเงินมหาศาลในอนาคต
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันรัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกา "จัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2550" มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน   2551 ที่ผ่านมา หรือที่เรียกย่อว่า อบก.หรือ "TGO" (Thailand Greenhouse Gas Management Organization)
การเริ่มพัฒนาโครงการและตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง รวมถึงเป็นศูนย์กลางข้อมูลดำเนินงานและให้ทุนสนับสนุนการดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจก
แม้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจะมีข้อดีคือทำให้ประเทศพัฒนาไม่ต้องเจอค่าปรับจากพิธีสารเกียวโต ขณะที่ประเทศด้อยพัฒนาก็ได้รับการสนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีสะอาด เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน
แต่มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งออกมาเตือนว่าหากประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย ลาว เวียดนาม นำคาร์บอนเครดิตมาขายจนหมดสิ้น จะกลายเป็นภาระผูกพันถึงอนาคต หากมีข้อตกลงใหม่ที่กำหนดให้ประเทศด้อยพัฒนาต้องช่วยลดก๊าซเรือนกระจกด้วย ประเทศเหล่านี้ก็จะไม่มีคาร์บอนเครดิตเหลือ เพราะขายล่วงหน้าไปหมดแล้ว
ศ.ดร.สุรพงศ์  จิระรัตนานนท์ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานกล่าวแนะนำว่า ไทยควรมีการเก็บคาร์บอนเครดิตไว้บ้าง เพราะอีก 10 ปีข้างหน้า อาจต้องถูกบังคับให้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน เมื่อถึงเวลานั้นอาจไม่มีคาร์บอนเครดิตเหลือ เพราะขายล่วงหน้าให้ประเทศอื่นหมดแล้ว ราคาที่ขายได้ก็ต่ำกว่าจำนวนที่กำหนดให้จ่ายค่าปรับหลายเท่า ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประเมินสถานการณ์ในอนาคตเผื่อไว้ด้วย นอกจากนี้ควรมีการลดการใช้พลังงานด้านอื่นพร้อมกัน เนื่องจากภาคธุรกิจไทยมีการใช้พลังงานไฟฟ้าสิ้นเปลืองอย่างมาก
ศ.ดร.สุรพงศ์ยกตัวอย่างตึกขนาดใหญ่แห่งหนึ่งย่านถนนรัชดาภิเษกว่า มีการใช้พลังงานไฟฟ้าเทียบเท่ากับเมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว เพราะต้องเปิดไฟและแอร์ตลอดทั้งวัน หน่วยงานรัฐควรใช้นโยบายเหมือนเกาหลีใต้ ที่ออกกฎข้อบังคับให้สถานที่ราชการเปิดเครื่องปรับอากาศไว้ที่อุณหภูมิ 26 องศา ส่วนที่มาเลเซียก็พยายามสร้างอาคารแบบใหม่ที่ประหยัดพลังงานจากเดิม 3-5 เท่า โดยการประหยัดพลังงานไฟฟ้าส่วนนี้อาจนำมาเป็นคาร์บอนเครดิตขายในอนาคตได้
อยากขาย"คาร์บอนเครดิต" ต้องทำอย่างไร
ต้องเป็นโครงการเกี่ยวข้องกับนโยบายช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เช่น ผลิตพลังงานทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิง แปลงขยะเป็นพลังงาน พัฒนาประสิทธิภาพการคมนาคม ลดมลพิษสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ที่เรียกกันว่า โครงการซีดีเอ็ม หรือ โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด(Clean Development Mechanism : CDM)
เจ้าของโครงการประเภทกลไกการพัฒนาที่สะอาดหรือโครงการซีดีเอ็มนั้นก่อนจะตกลงซื้อขายคาร์บอนเครดิตต้องมีการขอใบรับรอง CERs (Certified Emission Reductions) จากสหประชาชาติก่อนทั้งนี้เจ้าของกรรมสิทธิ์ CERs อาจมีทั้งโรงงานไฟฟ้าเอกชน ฟาร์มหมู โครงการปลูกป่า ซึ่งเป็นตัวเจ้าของโครงการไม่ใช่รัฐบาล นอกจากรัฐบาลจะเป็นเจ้าของโครงการเอง
ขั้นตอนสำคัญในการขอใบรับรองCERs คือ
1.ยื่นโครงการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกไปที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.เสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
3.ส่งเอกสารให้สหประชาชาติรับรองเพื่อออก CERs
ขณะนี้"บริษัทบริการสิ่งแวดล้อม" (Environmetal Service) กำลังเป็นธุรกิจใหม่ที่ต่างชาติทยอยเปิดในเมืองไทย เพื่อช่วยบริษัทหรือเจ้าของโรงงานที่ต้องการเป็นโครงการซีดีเอ็ม เช่น แนะนำขั้นตอนทำเอกสารขอ "CERs" หรือช่วยเป็นที่ปรึกษาการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเช่น ให้คำปรึกษาการออกแบบโครงการ ธุรกิจตรวจประเมินและรับรองโครงการ ธุรกิจตัวกลางซื้อขายกับต่างประเทศ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย จัดว่าเป็นเพียงการเริ่มต้น เมื่อเทียบกับ อินเดีย จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ บราซิล และอาร์เจนตินา

จิโรจ ณ นคร ผู้จัดการธุรกิจ  บริษัทเอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งขยายไลน์จากตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพไอเอสโอ 9000 และ 14000 อีกหลายธุรกิจบริการในไทย มาสู่การ ตรวจประเมินและรับรองโครงการ (Designated Operational Entity-DOE) เครดิต คาร์บอน บอกว่า บริษัทเพิ่งเริ่มเข้าสู่ธุรกิจดังกล่าวในไทยเป็นปีแรก หลังจากประสบความสำเร็จในการดำเนินการในอินเดีย ซึ่งเอสจีเอสเป็นผู้ตรวจและยืนยันโครงการให้กับโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 100 บริษัท
และในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้มติอนุมัติการขึ้นทะเบียน 3 โครงการแรกของไทย เพื่อให้สามารถขายคาร์บอนเครดิตตามข้อตกลงได้ คือ
1.โรงไฟฟ้าด่านช้างไบโอเอนเนอร์ยี่
2.โครงการโรงไฟฟ้าพลังแกลบ ของบริษัท เอ.ที.ไบโอเพาเวอร์ จำกัด
3.โครงการไบโอแมสของโรงไฟฟ้าขอนแก่น
สำหรับโรงไฟฟ้าขอนแก่นที่นำชานอ้อยมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้านั้น มีการประเมินว่าจะสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 5.7 หมื่นตันต่อปี หากนำคาร์บอนเครดิตมาซื้อขายจะได้ประมาณ 21 ล้านบาท

โครงการ ตั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล 3 mw. ร่วมกับ ต้นตะกู พันธุ์ก้านแดง 4,000 ไร่ ลดภาวะโลกร้อน
ขายคาร์บอนเครดิต 10 ยูโร/ตัน
"โรงงานเก่าสามารถทำได้ แต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาลดมลพิษ ซึ่งอาจจะต้องลงทุนมากกว่า แต่ถ้าเป็นโรงงานใหม่ ก็สามารถคุยกับที่ปรึกษาได้เลยว่า เข้าข่ายที่จะทำได้หรือไม่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการไฟแนนซ์โครงการ จากรีเทิร์นที่จะกลับมาจากการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งอาจจะคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนเรื่องเทคโนโลยีที่จะมาลดปฏิกิริยาเรือนกระจก"

ล่าสุดมีอีก 45 บริษัทที่เสนอขอเข้าโครงการซีดีเอ็ม เพราะราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงระดับ 7 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันแล้ว โครงการส่วนใหญ่ร้อยละ 50 จะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) เช่น การผลิตก๊าซจากน้ำเสีย อันดับ 2 คือด้านเทคโนโลยีชีวมวล (ไบโอแมส) ร้อยละ 25 ส่วนที่เหลือเป็นโครงการประหยัดพลังงานไฟฟ้า โครงการแปลงขยะชุมชนเป็นพลังงาน ด้านคมนาคมขนส่ง ฯลฯ
ด้าน มร.ซานดี้ มัคคินนอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท McKinnon & Clarke บริษัทที่ได้รับอนุญาตในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Emission Trader) สัญชาติยุโรป บอกว่า เขาได้จะเป็นบริษัทต้นๆ ที่เข้ามาดำเนินการการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทย โดยได้ตั้งหน่วยงานใหม่ด้านบริการสิ่งแวดล้อม (Environmental Services) ในไทย เพื่อดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเห็นว่าประเทศกำลังพัฒนาเช่นไทย มีต้นทุนต่ำหากจะลดการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงมีโอกาสที่จะขายคาร์บอนเครดิตจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนให้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว

"เราคิดว่าธุรกิจเทรดคาร์บอน เครดิต จะเป็นธุรกิจที่จะโตต่อไป นอกจากเราจะเข้ามาช่วยลูกค้าเรื่องไฟแนนซ์แล้ว ก็ยังจะเกิดประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง โดยเราจะมีซอฟต์แวร์เพื่อเข้าไปช่วยลูกค้า ช่วงนี้ถือเป็นช่วงเริ่มต้นดำเนินการ ซึ่งเราต้องแน่ใจเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ว่าวิธีการทำงานเป็นอย่างไรก่อน" เขาระบุ

อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า เรื่องการลงทุนลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยังคงเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสำหรับลูกค้าคนไทย เพราะค่อนข้างใช้เงินลงทุนสูง หากลงทุนแล้วไม่ได้รับใบรับรองเพื่อนำไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต การดำเนินการต่างๆ จึงต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด

โดยเขาระบุว่า การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในสหภาพยุโรป มีวิธีการที่ง่าย แค่ยกบิลค่าไฟฟ้าให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดู เท่านี้ก็ได้เงินกลับคืนมา ถ้าเทียบกับในไทยที่มีความซับซ้อนมากกว่า
"การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้มลพิษลดลง เพราะคนอื่นเป็นคนก่อแต่เราเป็นคนเข้าไปแก้ แต่อย่างน้อยก็ สร้างแรงจูงใจให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในการลงทุนเพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถ้าเขามั่นใจว่าลดแล้วสามารถนำไปซื้อขายกันได้ในอนาคต จะสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนก็เกิดความกระตือรืนร้นที่จะทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมขึ้นมา" เขาตั้งประเด็นอย่างน่าสนใจ

"พิธีสารเกียวโต ยังไม่ทำให้เกิดการลดการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ลงอย่างมากมาย เพราะ ราคาซื้อขายยังไม่สูงพอที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลดการใช้พลังงาน หรือปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ต้องผมเชื่อว่าราคาซื้อขายในปี 2551-2555 จะสูงขึ้น จากเกณฑ์การลดปริมาณการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะเข้มงวดมากขึ้น" เขากล่าว

ในทัศนะของเขายังเห็นว่า สาเหตุที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ปล่อยมลพิษสูงสุดในโลก แต่กลับไม่ยอมลงนามในพิธีสารเกียวโตนั้น เพราะเกรงว่าธุรกิจจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน อเมริกา แต่สำหรับประเทศอังกฤษ ยุโรป แม้จะเป็นประเทศที่ไม่ใหญ่ แต่ก็เริ่มมีการดำเนินการเรื่องนี้ ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย 
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องโลกร้อน ไม่ใช่ปัญหาส่วนตัวเฉพาะของคนใดคนหนึ่ง  เพราะขณะนี้ได้เกิดผลกระทบที่มองเห็นเป็นรูปธรรมขึ้นแล้วมากมาย   การเยียวยาดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้  เพียงแค่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ให้เพิ่มขึ้น  เพื่อฉลอผลกระทบออกไป  และรักษาโลกเพื่อส่งต่อแก่ลูกหลานเราในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น